วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2557

Nelson  Mandela

เนลสัน แมนเดลา 

   เนลสัน โรลีลาลา แมนเดลาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐแอฟริกาใต้และเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างถูกต้อง
     ถ้าหากปราศจากบุคคลผู้นี้แล้ว โลกของเราก็คงจะยังมีการเหยียดสีผิว  เขาเป็นรัฐบุรุษของโลก ผู้อุทิศตนต่อสู้เพื่อล้มล้างลัทธิเหยียดผิว และผลักดันให้เกิดสันติภาพทั่วโลก
    โดยในปี พ.ศ. 2486 เขาได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคสภาแห่งชาติแอฟริกัน   หรือเอเอ็นซี และต่อมาได้ร่วมก่อตั้งสันนิบาตยุวชนเอเอ็นซี อีกทั้งเขาได้ร่วมกับเพื่อน โอลิเวอร์ แทมโบ ก่อตั้งสำนักงานกฎหมายในเมืองโจฮันเนสเบิร์กในปี พ.ศ. 2495 รณรงค์ต่อต้านระบอบปกครองที่เหยียดผิวของพรรคคนผิวขาว ที่กดขี่ชาวผิวดำซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ จนทำให้ในปีพ.ศ. 2499 แมนเดลาถูกแจ้งข้อหากบฏพร้อมกับนักเคลื่อนไหวอีก 155 คน แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเขาหลังสอบสวนอยู่นาน 4 ปี

      ต่อมาได้มีการออกกฎหมาย Pass Laws ฉบับใหม่ซึ่งจำกัดเขตอยู่อาศัยและทำมาหากินของคนผิวดำ ทำให้กระแสต่อต้านการเหยียดผิวได้ขยายตัวไปทั่วแอฟริกาใต้ ขณะที่พรรคเอเอ็นซีก็ถูกประกาศให้เป็นกลุ่มเถื่อนในปี พ.ศ. 2503 ทำให้ เนลสัน แมนเดลาต้องหลบลงใต้ดิน อย่างไรก็ดี กระแสการต่อต้านลัทธิเหยียดผิวได้รุนแรงขึ้นจนถึงที่สุดเมื่อตำรวจได้สังหารหมู่ชาวผิวดำ 69 คนในเมืองชาร์ปวิลล์ในปีเดียวกัน
        เนลสัน แมนเดลา ซึ่งขณะนั้นเป็นรองประธานเอเอ็นซี ได้เปิดปฏิบัติการวินาศกรรมทางเศรษฐกิจจนกระทั่งถูกจับในที่สุด และเขาถูกแจ้งข้อหาก่อวินาศกรรม และพยายามโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีการรุนแรง โดยระหว่างการพิจารณาคดีที่เมืองริโวเนีย แมนเดลาได้ประกาศความเชื่อของเขาในเรื่องประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเท่าเทียมว่า
          "ผม เชิดชูอุดมคติเรื่องสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีเสรีภาพ ที่ซึ่งคนทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ และได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือสังคมอุดมคติที่ผมปรารถนาจะไปให้ถึง เป็นอุดมคติที่ผมพร้อมจะอุทิศชีวิตให้"

          อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2507 เขาถูกพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตบนเกาะร็อบเบนเป็นเวลา 18 ปี ก่อนถูกย้ายมายังเรือนจำโพลส์มัวร์บนแผ่นดินใหญ่ในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งขณะที่เขาถูกจองจำอยู่นั้น พวกเยาวชนตามเมืองต่าง ๆ ของชนผิวดำยังคงต่อสู้กับการปกครองโดยคนผิวขาวส่วนน้อยต่อไป จนทำให้มีผู้บาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก

          ขณะ ที่ทางฝั่งของ โอลิเวอร์ แทมโบ สหายของแมนเดลา ผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ เขาได้เริ่มรณรงค์ในระดับสากล เรียกร้องให้ปล่อยตัวมิตรร่วมอุดมการณ์ในปี พ.ศ. 2523  โดยมีการจัดคอนเสิร์ตที่สนามกีฬาเวมบลีย์ในกรุงลอนดอนในปี 2531 ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 72,000 คน อีกหลายล้านทั่วโลกรับชมทางโทรทัศน์ และร่วมร้องเพลงเพื่อให้ปลดปล่อยเนลสัน แมนเดลา

          โดยกระแสเรียกร้องนี้ ทำให้บรรดาผู้นำโลกเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อระบอบเหยียดผิวของแอฟริกาใต้ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 แล้ว จนในที่สุด ประธานาธิบดี เอฟ ดับเบิลยู เดอ เคลิร์ก ก็ไม่สามารถทนต่อแรงกดดันจากทั่วโลกได้ และเลิกสั่งแบนพรรคเอเอ็นซีในปี พ.ศ. 2533 พร้อมกับปล่อยตัว เนลสัน แมนเดลา

          ในปี พ.ศ. 2536 เนลสัน แมนเดลา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ และต่อมาชาวแอฟริกาใต้ทุกผิวสีได้ออกเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย เป็นครั้งแรก ทำให้ เนลสัน แมนเดลาได้รับเสียงโหวตท่วมท้นให้เป็นประธานาธิบดีในวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ซึ่งเขาได้ปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการเหยียดสีผิวหรือชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ และได้รับความยกย่องจากนานาชาติสำหรับการอุทิศตนเพื่อการประสานไมตรีทั้งใน ระดับชาติและระดับนานาชาติ จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2542 เขาได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และได้เป็นรัฐบุรุษอาวุโส ซึ่งเขายังคงอุทิศเวลาส่วนใหญ่ให้กับเรื่องสิทธิมนุษยชนและให้ความรู้เรื่อง การติดต่อของโรคเอดส์จนกระทั่งอายุ 85 ปี ก่อนจะขอเกษียณเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

   "ไม่มีผู้ใดที่เกิดมาแล้วเกลียดผู้อื่นเพียงเพราะความแตกต่างของสีผิวหรือเพราะภูมิหลัง หรือความเชื่อ เพื่อที่คนเราจะเกลียดกันได้ มันต้องได้รับการปลูกฝัง  และเมื่อปลูกฝังให้เกลียดได้ ก็สามารถปลูกฝังให้รักกันได้   เพราะความรักนั้นเกิดขึ้นในจิตใจมนุษย์ ได้อย่างเป็นธรรรมชาติกว่าความรู้สึกที่ตรงกันข้าม"
                                               

                                       --  เนลสัน แมนเดลา
        
           

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น